หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

ศาลากวง โบราณสถานตัวแทนแห่งการตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน
7 มิถุนายน 2563 | 6,842

ศาลากวงเป็นโบราณสถานสำคัญแห่งหนึ่งของจังหวัดสงขลาที่ตั้งอยู่ในเขตตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา แต่ผู้คนทั่วไปมักจะไม่ใคร่รู้จักกันมากนักเนื่องด้วยตั้งอยู่ในบริเวณที่ราบลุ่มภายในดงต้นไม้ขนาดใหญ่ มีหนองน้ำและคลองขนาดเล็กล้อมรอบทั้ง 3 ด้าน คือด้านตะวันออก ทิศใต้ และตะวันตก อีกทั้งอยู่ห่างจากถนนระหว่างหมู่บ้านมาพอสมควรโดยมีดงต้นไม้อยู่ติดถนนจึงค่อนข้างลับสายตาของผู้คนทั่วไป

เมื่อปี พ.ศ.2540 สำนักงานโบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา กรมศิลปากร ได้ดำเนินการสำรวจเพื่อเตรียมการขึ้นทะเบียนโบราณสถานศาลากวง หลังจากนั้นในปี พ.ศ.2542 กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานศาลากวง ในราชกิจจานุเบกษา เล่ม 116 ตอนพิเศษ 7 วันที่ 22 มกราคม 2542 หน้า 4 พื้นที่โบราณสถานประมาณ 3 งาน 58 ตารางวา

จนกระทั่งเมื่อช่วงปี พ.ศ.2542 – 2543 จึงได้ดำเนินงานขุดค้น-ขุดแต่ง พบว่าศาลากวงมีลักษณะเป็นอาคารก่ออิฐถือปูนยกพื้น ผังทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าวางตัวในแนวทิศเหนือ-ใต้ กว้างประมาณ 4 เมตร ยาวประมาณ ๘ เมตร ส่วนฐานก่อด้วยหินภูเขาสูงประมาณ 80 เซนติเมตร ไม่พบร่องรอยการฉาบปูนทับ พื้นอาคารปูด้วยกระเบื้องดินเผาขนาด 32 x 32 เซนติเมตร พร้อมทั้งก่อเรียงอิฐเป็นแนวขอบของพื้น ภายในอาคารแบ่งพื้นที่เป็น ๓ ส่วน พื้นที่ส่วนทิศใต้และส่วนกลางมีลักษณะเป็นห้องโถงโล่งไม่มีผนัง ส่วนพื้นที่ด้านทิศเหนือก่ออิฐฉาบปูนผนังเพื่อให้เป็นห้อง โดยผนังของห้องนี้ด้านทิศเหนือและตะวันตกก่อเป็นผนังทึบ ผนังตะวันออกก่อเว้นช่องหน้าต่างขนาดกว้าง90เซนติเมตร สูง 75 เซนติเมตร ส่วนผนังด้านทิศใต้ก่อเว้นช่องประตูขนาดกว้างประมาณ 108 เซนติเมตร โดยใช้แผ่นหินแกรนิตวางเป็นธรณีประตู

หลักฐานจากการขุดแต่งพบว่าศาลากวงคงจะมีโครงสร้างหลังคาเป็นเครื่องไม้มุงด้วยกระเบื้องดินเผาปลายแหลม เนื่องจากพบเสาหินแกรนิตทรงสี่เหลี่ยมขนาดยาวประมาณ 2.09 เมตร กว้างด้านละ 24 เซนติเมตร ล้มอยู่ที่พื้นห้องโถง 2 ต้น และอยู่ที่พื้นดินด้านตะวันตกอีก 2 ต้น โดยเสาหินดังกล่าวมีรอยบากที่หัวเสาเพื่อใช้วางเครื่องบนที่เป็นโครงสร้างไม้ และพบชิ้นส่วนกระเบื้องดินเผาปลายตัดเป็นสามเหลี่ยมขนาดยาว26เซนติเมตร กว้าง 13 เซนติเมตร นอกจากนี้ยังพบร่องรอยการก่อบันไดทางขึ้นอาคารขนาดกว้างประมาณ 2.69 เมตร อยู่ทางด้านตะวันออกบริเวณห้องโถงกลาง โดยเป็นบันไดก่อด้วยอิฐ 3 ขั้น ขอบข้างบันไดก่อด้วยหินภูเขา ห่างจากตัวอาคารศาลากวงไปทางทิศใต้ประมาณ 9 เมตร มีบ่อน้ำทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ขนาด 1.5 x 1.5 เมตร จำนวน 1 บ่อ ด้านล่างของบ่อกรุด้วยหินภูเขา ถัดขึ้นมาด้านบนจึงก่อด้วยอิฐดินเผาและปิดทับด้วยแผ่นหินแกรนิตเป็นขอบบ่อ

โบราณวัตถุชิ้นสำคัญที่พบจากการขุดแต่งภายในห้องด้านทิศเหนือของศาลากวงคือ ชิ้นส่วนจารึกภาษาไทยทำด้วยหินอ่อน ซึ่งสามารถอ่านได้เพียงว่า“.....ไกลจาก.....จากตั้งแต่ส่า.....เล็ก2” และแท่นฐานตั้งศิลาจารึกซึ่งทำด้วยหินอ่อนแกะสลักลวดลายด้านล่างแท่น มีขนาดความยาวส่วนบน 71 เซนติเมตร ความยาวส่วนล่าง 94 เซนติเมตร สูง 16.5 เซนติเมตร ด้านบนเซาะร่องขนาด 3 x 67 เซนติเมตร หนา 16 เซนติเมตร เพื่อไว้ปักวางแผ่นศิลาจารึก

ทั้งนี้ก่อนหน้าที่จะดำเนินการขุดค้น – ขุดแต่ง ได้มีการค้นพบแผ่นศิลาจารึกภาษาจีนสภาพสมบูรณ์ 1 หลัก ในบริเวณพื้นที่ศาลากวงด้วย (ปัจจุบันศิลาจารึกศาลากวงเก็บรักษาไว้ ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา)โดยจารึกแผ่นดังกล่าวได้ผ่านการอ่านแปลและถอดความจากภาษาจีนโบราณมาเป็นภาษาจีนปัจจุบันก่อนแล้วจึงแปลเป็นภาษาอังกฤษ จากนั้นจึงแปลและถอดความออกมาเป็นภาษาไทย ซึ่งโดยปกติแล้วศิลาจารึกลักษณะนี้มักจะมีข้อความปรากฏอยู่ทั้งสองด้าน ด้านหน้าเป็นด้านที่อธิบายความต่างๆ ส่วนด้านหลังจะเป็นการกล่าวถึงชื่อ วันเกิด และวันตายของผู้ที่ถูกกล่าวถึงในเนื้อความด้านหน้า แต่จารึกศาลากวงหลักนี้มีข้อความเพียงแค่ด้านหน้าเท่านั้น จึงไม่อาจทราบได้อย่างชัดเจนว่าจารึกหลักนี้กล่าวถึงผู้ใด ซึ่งเนื้อหาของจารึกแบ่งได้เป็น2 ส่วน ส่วนแรกเป็นการบรรยายความ ส่วนที่สองเป็นบทกลอนแบบจีนที่ในบทหนึ่งจะมีคำเพียงเจ็ดคำเท่านั้น โดยบทกลอนนี้ก็มีเนื้อหาใจความสำคัญเช่นเดียวกับข้อความบรรยายในส่วนแรก

ผู้จารจารึกหลักนี้คือ หวู่ หัว ชิง (Wu Hua Shing) ซึ่งอาจเป็นนักปราชญ์หรือผู้มีความรู้ในชุมชน ได้เขียนบรรยายความเพื่อสรรเสริญบุุรุษผู้หนึ่งที่ได้ล่วงลับไปแล้วซึ่งเป็นผู้ที่ได้สร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่บ้านเมือง โดยไม่ได้ระบุว่าบุคคลนี้เป็นใคร แต่สันนิษฐานเบื้องต้นว่าน่าจะเป็นผู้นำหรือบุคคลสำคัญของชุมชน

เนื้อความในส่วนแรกมีใจความสำคัญ ดังนี้
“บรรพบุรษของพวกเรา (หมายถึง บุรุษที่ หวู่ หัว ชิง เอ่ยถึงในจารึก) ได้อยู่อาศัยและดำรงชีพอยู่ในแผ่นดินนี้มาเป็นเวลานาน ตราบจนกระทั่งถึงสมัยของพวกเรา ดังนั้นพวกเราที่เป็นลูกหลานจึงควรกตัญญูต่อแผ่นดินนี้ด้วยความเต็มใจ โดยการสร้างสาธารณประโยชน์คืนให้แก่ประชาชนและให้แก่แผ่นดินแห่งนี้เพื่อสืบสานเจตนารมย์ต่อจากบรรพบุรุษของพวกเรา การกระทำอย่างนี้เป็นการช่วยรักษาแผ่นดินที่พวกเราได้ใช้เป็นที่อยู่อาศัยให้คงอยู่สืบต่อไป ด้วยเหตุผลนี้พวกเราไม่จำเป็นต้องเลือกว่าเป็นพื้นที่ในเมืองหรือชนบทในการสร้างสาธารณประโยชน์
ไม่ว่าอากาศจะร้อนหรือฝนจะตกก็ตาม คนที่มีความจำเป็นต้องเดินทาง เช่น คนผ่านทาง คนที่ทำการค้าขายหรือแม้แต่ราชการ ต้องการที่พักระหว่างทางเพื่อหลบความร้อนหรือหลบฝนได้ ดังนั้นบุรุษผู้นี้จึงได้สร้างศาลาแห่งนี้ขึ้นเพื่อให้ประโยชน์ต่อคนเดินทางเหล่านั้นได้มาพักผ่อน ศาลาแห่งนี้จึงเป็นสาธารณสมบัติ ขอให้ทุกคนช่วยกันรักษาให้คงสภาพที่ดีให้นานที่สุดไว้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
สิ่งที่ข้าพเจ้ากล่าวมาทั้งหมดนี้อาจจะไม่เพียงพอต่อการสรรเสริญความดีงามของบรรพบุรุษผู้นี้ ดังนั้นข้าพเจ้าของกล่าวคำสรรเสริญเป็นคำกลอนอีกครั้งหนึ่ง”

เนื้อความในส่วนที่สองซึ่งเป็นบทกลอนมีใจความสำคัญ ดังนี้
“เมื่อถึงฤดูร้อน อากาศด้านนอกจะร้อนมาก เมื่อฤดูฝนอากาศด้านนอกจะหนาวและเปียก ฝนจะตกหรือแดดจะร้อน ไม่สามารถหยุดผู้คนจากการเดินทางได้ เมื่อผู้คนเหล่านั้นมีปัญหาเรื่องสภาพอากาศภายนอกจะสามารถเข้ามาพักผ่อนในศาลาแห่งนี้ได้ เมื่ออากาศดีขึ้นจึงค่อยเดินทางต่อ เราสร้างศาลาแห่งนี้ขึ้นด้วยความตั้งใจจริง แม้ว่าศาลาที่สร้างขึ้นมาจะขนาดเล็ก แต่ประโยชน์ของมันมีมากมายมหาศาล บ่อน้ำมีน้ำเย็นที่ดื่มแล้วชื่นใจ มีสะพานขนาดเล็กไว้ให้ผู้คนได้เดินข้ามไปอีกด้วย จึงวอนขอให้ทุกคนช่วยกันบำรุงรักษาศาลาแห่งนี้ให้คงอยู่ต่อไป”

เมื่อจบบทกลอนแล้วจึงบันทึกช่วงเวลาที่จารจารึกไว้ โดยระบุว่าเป็นปีที่ 6 แห่งรัชสมัยของจักรพรรดิ์ถงซึ เดือน 4 และท้ายสุดเป็นการลงชื่อของ หวู่ หัว ชิง จากการตรวจสอบข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบช่วงเวลาแล้ว สันนิษฐานว่าจักรพรรดิ์ถงซึในที่นี้น่าจะหมายถึง จักรพรรดิ์ถงจื้อ พระองค์เป็นจักรพรรดิลำดับที่ 10 แห่งราชวงศ์ชิง ครองราชย์อยู่ในช่วงปี ค.ศ.1861 – 1875 หรือ พ.ศ.2404 – 2418 ดังนั้นปีที่ 6 แห่งรัชสมัยจักรพรรดิถงจื้อ เดือน 4 น่าจะตรงกับเดือนเมษายน พ.ศ.2409 หรืออยู่ในช่วงปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และตรงกับสมัยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (เม่น ณ สงขลา) เป็นผู้ว่าราชการเมืองสงขลา (พ.ศ. 2408 - 2427) ซึ่งในสมัยนี้ได้ย้ายเมืองสงขลาไปตั้งอยู่ฝั่งบ่อยางแล้วตั้งแต่ พ.ศ.2385 จึงสันนิษฐานว่าศาลากวงนี้น่าจะเริ่มก่อสร้างขึ้นในช่วงก่อนเวลาที่ระบุในจารึก หรืออย่างช้าที่สุดคือปีเดียวกันกับที่มีการจารจารึก คือปี พ.ศ.2409 และคาดว่าผู้สร้างศาลากวงนี้คงจะเป็นบุคคลระดับผู้ปกครองหรือผู้นำชุมชนที่สามารถเกณฑ์แรงงานมาช่วยกันก่อสร้างอาคารแบบมั่นคงถาวรได้ ซึ่งก็น่าจะเป็นบรรพบุรุษในสายตระกูล ณ สงขลา ที่เคยเป็นเจ้าเมืองสงขลาสมัยที่เมืองสงขลายังอยู่ที่ฝั่งแหลมสน

ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าจารึกหลักนี้เน้นย้ำให้ความสำคัญต่อการกตัญญูตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน และการสร้างสาธารณประโยชน์ให้แก่ส่วนรวม อีกทั้งทำให้ทราบถึงหน้าที่ใช้งานของศาลากวงได้อย่างชัดเจนว่ามีความมุ่งหมายให้เป็นศาลาที่พักของคนเดินทาง และมีบ่อน้ำไว้ใช้น้ำในการอุปโภคบริโภค โดยอุทิศให้เป็นสาธารณสมบัติ ดังนั้นอาจกล่าวว่าศาลากวงได้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นการตอบแทนบุญคุณแผ่นดินนั่นเอง

อนึ่ง คำว่า “กวง” ในภาษาจีนกลาง มีความหมายว่า แสงสว่าง , ความสว่างไสว จึงสันนิษฐานว่าการที่ชาวบ้านเรียกโบราณสถานแห่งนี้ต่อๆกันมาว่า “ศาลากวง” ก็คงหมายถึงศาลาที่มีแสงสว่าง หรือศาลาที่มีแสงไฟ อันเป็นการบ่งบอกคุณลักษณะของการใช้งานอาคารสำหรับเป็นที่พักชั่วคราวของคนเดินทางได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งลักษณะการใช้งานศาลากวงนี้ก็คงเหมือนกับธรรมศาลาหรือศาลาที่พักคนเดินทางที่สร้างขึ้นเนื่องในวัฒนธรรมเขมรสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 เมื่อราวพุทธศตวรรษที่ 18 ด้วยเช่นกัน

เรียบเรียงโดย : นางสาวชนาธิป ไชยานุกิจ นักโบราณคดีชำนาญการ สำนักศิลปากรที่ 11 สงขลา

ที่มาของข้อมูล/เอกสารอ้างอิง
๑. โบราณคดีและพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติที่ 10 สงขลา,สำนักงาน. รายงานประกอบการขึ้นทะเบียนโบราณสถานศาลากวง ตำบลหัวเขา อำเภอสิงหนคร จังหวัดสงขลา.เอกสารอัดสำเนา,๒๕๔๐
๒. พรอนันท์ก่อสร้าง,ห้างหุ้นส่วนจำกัด. รายงานการขุดค้นและขุดแต่งทางโบราณคดีแหล่งโบราณสถานศาลากวง. เอกสารอัดสำเนา,๒๕๔๓
๓. ศิลปากร,กรม. ทำเนียบนามแหล่งมรดกทางศิลปวัฒนธรรมในพื้นที่ ๕ จังหวัดชายแดนภาคใต้ โบราณสถานในจังหวัดสงขลา ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล). กรุงเทพ : บริษัทบางกอกอินเฮ้าส์ จำกัด, ๒๕๕๕
๔. ศรีสมร ศรีเบญจพลางกูร,ผศ. ประวัติศาสตร์เมืองสงขลา. สงขลา : สถาบันราชภัฏสงขลา,๒๕๓๙

ที่มาของภาพถ่าย
๑.สำนักศิลปากรที่ ๑๑ สงขลา
๒.พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ สงขลา

เรื่องที่เกี่ยวข้อง