หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เรื่องน่ารู้ 20 สถาปัตยกรรมวัดในสงขลา
10 พฤษภาคม 2563 | 12,264

สงขลาเมืองสำคัญทางภาคใต้ เป็นเมืองที่เจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ มีความเจริญสูงสุด จนมีการผลิตเงินตราใช้เองในท้องถิ่น ร่องรอยทางอารยธรรมปรากฎให้เห็นอย่างกลมกลืนทั้งด้านความเชื่อทางศาสนา ของกลุ่มคน ทั้ง ไทย จีน อิสลาม ถ่ายทอดทางสถาปัตยกรรมและพิธีกรรม แบ่งออกเป็น 4 ส่วน

1.สถาปัตยกรรมอาคารบ้านเรือน
2.สถาปัตยกรรมวัด
3.สถาปัตยกรรมศาลเจ้า
4.สถาปัตยกรรมมัสยิด

โดยแต่ละส่วนมีการสอดประสานกันระหว่างศิลปะ ความเชื่อและพิธีกรรม ถ่ายทอดจากยุคสู่ยุคในรุปแบบเอกลักษณ์เฉพาะของสงขลา ทั้งถ่ายทอดจากสกุลช่างจากต่างถิ่นผสมความเชื่อและวัตถุดิบในท้องถิ่น จนเป็นเอกลักษณ์บองบอกความเป็นตัวตนของ "สงขลา"

ในเขตย่านเมืองเก่านี้ เฉพาะเขตเมืองบ่อยาง ท่านเคยทราบไหมว่า มีวัดในเขตพื้นที่นี้ถึง 20 วัด ปัจจุบันเหลือ 18 วัด ไม่ได้เป็นวัดแล้ว 2 วัด แสดงให้เห็นถึงความศรัทธาในพุทธศาสนาผ่านทางการสร้างวัดและมีสถาปัตยกรรมผ่านโบสถ์ วิหาร และ เขตพัทธสีมา โครงสร้างที่ผสมผสานทั้งจีนและไทย มีให้เห็นในทุกๆวัดในเขตเมืองเก่า ทั้งรูปทรงหลังคาผสมผสานไทยจีน จีนมุสลิม ในส่วนต่างๆที่ประยุกค์ได้อย่างลงตัว ท่านสามารถเดินเที่ยวชมสถาปัตยกรรมที่ถ่ายทอดผ่านวัดจากแรงศรัทธา ของคนในแต่ละยุคเรามาดูว่า 20 วัดที่ว่า มีวัดใดบ้าง วันนี้เราจะพาไปเรียนรู้เรื่องราวโดยพร้อม ๆ กัน 

1.วัดมัชฌิมาวาส วัดกลาง หรือ วัดยายจันทร์
2.วัดโพธิ์ปฐมวาส
3.วัดศาลาหัวยาง
4.วัดแจ้ง
5.วัดแหลมทราย
6.วัดไทรงาม
7.วัดตีนเมรุ
8.วัดเลียบ
9.วัดดอนแย้
10.วัดดอนรักษ์ หรือ วัดใต้
11.วัดเพชรมงคล
12.วัดชัยมงคล
13.วัดอุทัย
14.วัดยางทอง
15.วัดหัวป้อม(นอก) หรือวัดท่าทาง
16.วัดหัวป้อมใน
17.วัดศาลาหัวยาง
18.วัดโรงวาส
อีก 2วัด ที่ปัจจุบันไม่ได้เป็นวัดแล้ว คือ
19.วัดชายน้ำ(ร.ร.เทศบาล๑)
20.วัดชายเขา(บ้านพัก สำนักงานที่ดิน)

1.วัดมัชฌิมาวาส วัดสำคัญและเก่าแก่ที่สุดแห่งหนึ่งในย่านเมืองเก่าสงขลา สร้างในสมัยอยุธยาตอนปลาย เดิมชื่อ วัดยายศรีจันทร์ตามชื่อคหบดีที่เป็นผู้สร้างวัดนี้ แต่ชาวบ้านมักเรียกกันว่า วัดกลาง เพราะมีการสร้างวัดเลียบทางทิศเหนือ และวัดโพธิ์ทางทิศใต้ และเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาบาลีว่า "วัดมัชฌิมาวาส" โดยพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรส เมื่อครั้งเสด็จเมืองสงขลา พ.ศ.2431 จนกระทั่งในปี พ.ศ.2460 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดวรวิหาร วัดนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมที่คล้ายโบสถ์วัดพรศรีรัตนศาสดาราม แต่ขนาดเล็กกว่า สร้างขึ้นโดยฝีมือช่างหลวงในกรมช่างสิบหมู่ ร่วมกับช่างประจำเมืองสงขลา ส่วนประดับของเครื่องบนหรือหลังคา มีช่อฟ้า แต่ไม่มีนาคสะดุ้ง หน้าบันด้านหน้าเป็นพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณสามเศียร ด้านหลังเป็นรูปพระพรหมทรงหงส์ รอบโบสถ์มีเสารองรับชายคาโดยรอบ ระหว่างช่องเสาด้านนอกเป็นรูปจำหลักบนหินเรื่องสามก๊ก

2.วัดโพธิ์ปฐมาวาส สร้างขึ้นในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ประมาณปี พ.ศ.2200 ในบริเวณที่ตั้งวัด เดิมเรียกว่า สถานที่ค้าโภค์ หมายถึง ตลาดนัด จึงเรียกกันว่า วัดโภค์ ต่อมาเพี้ยนเป็น วัดโพธิ์ จนกระทั่งพระครูสังฆโศภณ เป็นเจ้าอาวาส ได้เปลี่ยนเป็น วัดโพธิ์ปฐมาวาสและได้รับการบูรณปฎิสังขรณ์โดยเจ้าพระยาวิเชียรคีรี (บุญสังข์) ผู้สำเร็จราชการสงขลาในปีพ.ศ 2402 กรมศิลปากรประกาศขึ้นทะเบียนโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๙ พฤศจิกายน พ.ศ.2528 โบราณสถานที่สำคัญในวัด ได้แก่ อุโบสถ เป็นอาคารก่ออิฐถือปูน หน้าบันตกแต่งด้วยลวดลายปูนปั้นรูปพานวางซ้อนกัน 2 ชั้น รองรับพระอภิธรรมปิฎก ภายในมีจิตรกรรมฝาผนังภาพเทพชุมนุม พระอาทิตย์ทรงรถ นรกภูมิและภาพปริศนาธรรม สอดแทรก
3.วัดศาลาหัวยาง สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อประมาณ พ.ศ.2300 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านหัวยางได้ร่วมใจกันสร้างวัดนี้ ระยะแรกได้นิมนต์พระนอนมาอยู่ปกครองวัดและเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ชาวบ้านเรียกนามวัดนี้ว่า “วัดหลาหัวยาง” ในด้านการศึกษาทางวัดได้ให้ทางราชการจัดสร้างโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดศาลาหัวยาง) ขึ้นในที่วัด ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2435 โดยระยะแรกใช้ศาลาการเปรียญวัดศาลาหัวยางเป็นที่เล่าเรียน

4.วัดแจ้ง สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ.2320 ในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี (ขณะที่เมืองสงขลาตั้งอยู่ที่ฝั่งแหลมสน ทางทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลา) พื้นที่บริเวณข้างเคียงกับที่ตั้งวัด มีราษฎรสร้างบ้านเรือนอาศัยจำนวนน้อย ที่ดินส่วนใหญ่เป็นที่ว่างเปล่าราษฎร์จึงได้เรียกบ้านเรือนแถบนั้นว่า “บ้านแจ้ง” บริเวณที่ตั้งวัดมีเนื้อที่ไม่มากนัก และไม่ปรากฏนามผู้สร้างมาแต่เดิม ชาวบ้านเรียกชื่อวัดตามชื่อบ้านว่า “วัดแจ้ง"ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อประมาณ ปี พ.ศ.2408 ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ราชวงศ์จักรี

5.วัดแหลมทราย สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ประมาณ พ.ศ.2356 สมัยรัชกาลที่ 2 พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ระยะแรกเริ่มสร้างวัดมีที่ดินประมาณ 4 ไร่ 1 งานอาคารเสนาสนะก็ไม่ถาวร ต่อมาได้ขอที่ดินราชพัสดุเพิ่มเติม 4 ไร่ 1 งาน รวมเป็น 8 ไร่ 2 งาน ทำให้วัดมีที่ดินตั้งวัดกว้างขวางขึ้น วัดแหลมทรายได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 4 มกราคม พ.ศ. 2484 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 40 เมตร ยาว 80 เมตร

6.วัดไทรงาม สร้างขึ้นเป็นวัดมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2320 สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชแห่งกรุงธนบุรี วัดไทรงามเป็นวัดเก่าแก่แห่งหนึ่งในเทศบาลเมืองสงขลา ซึ่งตั้งอยู่ใกล้เขาตังกวน มีพื้นที่สูงทางด้านเหนือลาดลุ่มลงมาทางด้านใต้

7.วัดตีนเมรุศรีสุดาราม สร้างขึ้นเป็นวัด เมื่อประมาณ พ.ศ. 2320 ชาวบ้านเรียกว่า “วัดตีนเมรุ” คำว่า ตีน มาจาก ปะตีน (ทิศใต้) ส่วนคำว่าเมรุ สันนิษฐานว่าเป็นที่ตั้งเมรุเผาศพของพระญาติชั้นผู้ใหญ่ (บริเวณสถานีรถไฟสงขลา) ตีนเมรุจึงหมายถึงอยู่ทางทิศใต้ของเมรุ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ.2320 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 15 เมตร ยาว 19 เมตร วัดนี้ก่อนที่จะสร้างเป็นวัด ได้มีพระซึ่งชาวบ้านเรียกท่านว่า “ ขรัวบ่อทอง” ได้มาพำนักอยู่ปริวาสกรรม ต่อมาได้สร้างเป็นวัดขึ้น สันนิษฐานชื่อที่มาของวัด

8.วัดเลียบ สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2320 สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งอาณาจักรกรุงธนบุรี ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ.2476 ภายในวัดมีอาคารไม้เก่าทรงปั้นหยา 1 หลัง กว้าง 7 เมตร สร้างโดยพระญานโมลี ปี 2479

9.วัดดอนแย้ สร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2203 สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา พ.ศ. 2213 มีพระอุโบสถเก่าแก่ สร้างเมื่อ พ.ศ.2296 เป็นสถาปัตยกรรมจีนหรือแบบเก๋งจีน มีกำแพงโดยรอบ โครงสร้างพระอุโบสถเป็นคอนกรีตผสมไม้ ขนาดยาว 13.80 เมตร กว้าง 8.00 เมตร ตัวอาคารมีลักษณะแบบสถาปัตยกรรมจีนประเพณี กรอบซุ้มช่องหน้าต่างทำเป็นอาคารจีนจำลอง ภายในพระอุโบสถ มีพระพุทธรูปปางมารวิชัย 3 องค์ ภายในวัดยังมีกุฏิเจ้าอาวาสที่เป็นสถาปัตยกรรมจีนอีกหนึ่งหลัง ที่สร้างใกล้เคียงกันมา แม้ว่าภายหลังจะมีการต่อเติม แต่ก็ยังยึดรูปแบบศิลปะจีนที่สวยงามไว้

10.วัดดอนรัก สร้างขึ้นเป็นวัดตั้งแต่ พ.ศ.2391 ชาวบ้านเรียกว่า “วัดใต้” โดยมีเจ้าคุณสุนทรานุรักษ์ ให้สร้างวัดขึ้น ณ ที่ใกล้ๆ จวนสักวัดหนึ่ง ตามคำปรารภของนางศรีเนี่ยว เพื่อสะดวกแก่การบำเพ็ญกุศล เจ้าคุณสุนทรานุรักษ์ จึงได้แบ่งที่ดินหลังจวนซึ่งเป็นป่าต้นรักและเป็นเนินสูง ให้ตั้งวัดขึ้นชื่อว่า “วัดดอนรัก” ได้จัดสร้างกุฏิ วิหาร และอุโบสถ เมื่อสร้างอุโบสถแล้วก็จัดการผูกพัทธสีมา ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ วันที่ 17 ตุลาคม พ.ศ. 2395 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง20 เมตร ยาว 20 เมตร

11.วัดเพชรมงคล สร้างขึ้นเป็นวัดมาตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2320 สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งกรุงธนบุรี โดยมีพระเพชรมาจากรัฐกลันตัน มาเลเซีย ได้รับนิมนต์จากชาวบ้านให้อยู่พำนัก แล้วได้ดำเนินการสร้างวัดขึ้น เนื่องจากบริเวณที่สร้างวัดมีต้นไม้ขี้หนอนอยู่มากมาย จึงเรียกนามวัดว่า “วัดโคกขี้หนอน” ในระยะแรก ต่อมาเมื่อพระเพชรได้มรณภาพ จึงได้เปลี่ยนนามวัดใหม่เป็น “วัดเพชรมงคล” เพื่อเป็นอนุสรณ์ และให้เป็นมงคลนามด้วย วัดเพชรมงคล ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อ พ.ศ. 2330 ต่อมาในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว คุณถมยา ณ สงขลา และชาวบ้านได้ร่วมกันก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นเพื่อบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ รัชกาลที่ 5 ทรงพระราชทานนามให้ว่า"พระเจดีย์โสภณ"

12.วัดชัยมงคลพระอาราหลวง สร้างขึ้นน่าจะราวปี พ.ศ.2394 ราว ๆ ปลายสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4 ) แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เดิมมีชื่อว่า “วัดโคกเสม็ด” เพราะตั้งอยู่บนเนินทรายที่มีต้นเสม็ดอยู่จำนวนมาก ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดชัยมงคล” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2408 ในวัดมีพระสถูปเจดีย์สำหรับบรรจุพระบรมสารีริกธาตุเป็นทรงลังกาแบบถูปารา และทำพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ เมื่อวันวิสาขบูชา ปีมะเมีย ตรงกับวันที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2439
13.วัดอุทัยธาราม สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ.2390 สมัยรัชกาลที่ 3 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านเรียกว่า “วัดอุทัยธาราม” อีกประการหนึ่งที่มองข้ามเสียไม่ได้ คือ หน้าวัดอุทัยเป็นจุดตัดของทางรถไฟสายหาดใหญ่-สงขลากับถนนไทรบุรี ซึ่งนับเป็นจุดตัดแห่งแรกเมื่อเข้าสู่เขตเทศบาลแล้ว อีกแห่งหนึ่งคือจุดตัดถนนทะเลหลวง ยุค 2500-2520 เมื่อครั้งยังมีรถไฟสายสงขลาวิ่งผ่านหน้าวัดอุทัย ทางการรถไฟฯ ได้สร้างป้ายหยุดรถวัดอุทัยขึ้น ตรงหลักกิโลเมตรที่ 956.68 เป็นป้ายหยุดรถที่ใกล้กับสถานีรถไฟสงขลามากที่สุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนที่โดยสารรถไฟชานเมืองระหว่างหาดใหญ่-สงขลา และอาศัยอยู่บริเวณด้านใต้ของเมืองสงขลา ไม่ต้องไปขึ้นรถไฟไกลถึงสถานีสงขลา


14.วัดยางทอง เป็นที่ตั้งของบ่อยาง ซึ่งเป็นชื่อท้องถิ่นของที่ตั้งเมืองสงขลา ส่วนจะสร้างขึ้นเมื่อไหร่นั้นไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด สืบค้นได้แต่เพียงจากพงศาวดารเมืองสงขลาว่า ในรัชกาลที่ 1 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ไทยยังคงรบกับพม่า เมื่อเกิดสงครามเก้าทัพ พม่าได้บุกมาทางถลางหรือภูเก็ต กองทัพเมืองสงขลาจึงได้ยกไปช่วย หลังจากเสร็จศึกเก้าทัพแล้วเจ้าเมืองสงขลาก็ได้สร้างอุโบสถวัดยางทอง (ทำนองสร้างบุญล้างบาป) จึงคาดหมายว่าวัดยางทองน่าจะมีอยู่ก่อนกรุงรัตนโกสินทร์ หรือคงจะมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา
15.วัดหัวป้อมนอก หรือ วัดท่าทางที่กล่าวถึงในนิราศนี้ สันนิษฐานกันว่าชื่อวัดอาจมาจากตั้งอยู่ริมทางรถไฟ สมัยนั้นถ้านั่งรถไฟออกจากสถานีสงขลาลงใต้มุ่งหน้าไปหาดใหญ่ จะผ่านด้านหลังวัดโรงวาสทางขวามือ จากนั้นจะผ่านทางแยกท่าเรือรถไฟริมทะเลสาบสงขลา แล้วจะผ่านวัดท่าทางอยู่ซ้ายมือ ทางฝั่งตะวันออกของทางรถไฟฝั่งตรงข้ามกับวัดท่าทาง คือวัดหัวป้อมนอก วัดเล็ก ๆ มีพื้นที่เพียงนิดเดียว หลังวัดจะติดกับวัดหัวป้อมใน ซึ่งหันประตูวัดออกไปทางถนนรามวิถี ถนนสายสำคัญของเมืองสงขลาที่สร้างขึ้นในราว พ.ศ. 2458 เพื่อรำลึกถึงรัชกาลที่ 6 เมื่อครั้งเสด็จเลียบมณฑลปักษ์ใต้ อยู่ในสมัยรัตนโกสินทร์ วัดท่าทางเป็นวัดแรกในสงขลาที่เมรุเผาศพ

 

16.วัดหัวป้อมใน สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อประมาณ พ.ศ.2315 ที่ได้นามอย่างนั้น เนื่องจากมีวัดหัวป้อมนอก ตั้งอยู่ตรงข้าม มีทางรถไฟผ่านกั้นกลางระหว่างวัดทั้งสองวัด เดิมเป็นวัดเดียวกัน มีนามว่า วัดหัวป้อม เพราะตั้งอยู่ตรงมุมกำแพงเมืองทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อวัดถูกแบ่งแยกเป็นสองวัดแล้ว ได้เรียกว่า วัดศีรษะป้อมใน แต่ประชาชนไม่นิยมเรียก ต่อมาจึงกลับใช้นามว่า วัดหัวป้อมใน ตามเดิม วัดหัวป้อมใน ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อประมาณ พ.ศ. 2325 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 11 เมตร ยาว 19 เมตร

17.วัดศาลาหัวยาง สร้างขึ้นเป็นวัดเมื่อประมาณ พ.ศ. 2300 สมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศแห่งกรุงศรีอยุธยา ชาวบ้านหัวยางได้ร่วมใจกันสร้างวัดนี้ ระยะแรกได้นิมนต์พระนอนมาอยู่ปกครองวัดและเป็นเจ้าอาวาสรูปแรก ชาวบ้านเรียกนามวัดนี้ว่า “วัดหลาหัวยาง” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาประมาณ วันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2310ในด้านการศึกษา ทางวัดได้ให้ทางราชการจัดสร้างโรงเรียนเทศบาล 3 (วัดศาลาหัวยาง) ขึ้นในที่วัด ได้ก่อตั้งเมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ. 2345 โดยระยะแรกใช้ศาลาการเปรียญวัดศาลาหัวยางเป็นที่เล่าเรียน

18.วัดโรงวาส สร้างขึ้นเป็นวัดนับตั้งแต่ พ.ศ.2320 สมัยสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช แห่งอาณาจักรกรุงธนบุรีและได้รับวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ.2330 พระอุโบสถวัดโรงวาสหันหน้าไปทางทิศตะวันตก ตั้งอยู่ในเขตกำแพงแก้วโดยมีหลักเสมาวางล้อมรอบ

19.วัดชายน้ำ เป็นวัดเก่าแก่สร้างขึ้นมาในยุคของการสร้างเมืองบ่อยาง แต่ตอนหลังเป็นวัดร้าง ทางเทศบาลเลยขอใช้พื้นที่เพื่อเป็นโรงเรียนเทศบาล๑ ปัจจุบันยังมีอาคารเก๋งจีน หลงเหลือให้เห็นเพียง 1 หลัง

20.วัดชายเขา เป็นวัดในสมัยเมืองสงขลาฝั่งแหลมสน ปรากฎตามพงศาวดาร สมัยสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่๔ เสด็จสงขลา มีการกล่าวถึงสัดชายเขา ปัจจุบันบริเวณนั้นเป็นที่ตั้งของบ้านพักและสำนักงานที่ดินจังหวัดสงขลา

ขอบคุณภาพเข้อมูล: ONG ART CAFE

เรื่องที่เกี่ยวข้อง