หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

สงขลา | ศิลปะวัดโพธิ์ปฐมาวาส ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา
28 มิถุนายน 2562 | 9,874

วัดโพธิ์ปฐมาวาสพระอารามหลวง สังกัดปกครองคณะสงฆ์มหานิกาย ตั้งอยู่ ถนนไทรบุรี  ตำบลบ่อยาง อำเภอเมือง จังหวัดสงขลา เป็นวัดโบราณ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อใดและใครเป็นผู้สร้าง มีผู้สันนิษฐานต่อกันมาว่าสร้างขึ้นตั้งแต่ประมาณ พ.ศ. 2200 บริเวณที่ตั้งวัดเดิมเรียกว่าสถานที่ค้าโภค์ (หมายถึงตลาดนัด) แต่เดิมจึงเรียกวัดนี้ว่า วัดโภค์ ต่อมาได้เพี้ยนเป็น วัดโพธิ์ และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “วัดโพธิ์ปฐมาวาส” ในสมัยพระครูสังฆโศภนเป็นเจ้าอาวาส กรมศิลปากรได้ขึ้นทะเบียนเป็นโบราณสถานแล้วเมื่อปี พ.ศ.2528 และได้ยกฐานะเป็นพระอารามหลวงในปี พ.ศ.2546 และมีฝาผนังศิลปกรรมอย่างน่าชม วันนี้เราจะคุณผู้อ่านไปดูความสวยงามของศิลปะภายในวัดแห่งนี้ มาเริ่มต้นกันที่

เสารูปต้นไผ่ พระอุโบสถ วัดโพธิ์ปฐมาวาส

รูปแบบศิลปะ เสาติดผนังรูปต้นไผ่นี้ถือเป็นงานท้องถิ่นและอาจกล่าวได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ของวัดแห่งนี้ ลักษณะตัวเสาทำเป็นเสานูนโค้งเป็นลำปล้องของต้นไผ่ พร้อมกับการเขียนลายให้คล้ายกับธรรมชาติ ตัวเสานี้ติดอยู่ตรงกลางของผนังระหว่างช่องหน้าต่าง และมีหน้าที่เป็นกรอบกั้นซุ้มจระนำประดิษฐานพระพุทธรูป รูปแบบและเทคนิคการเขียนนี้คงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 2

​​ภาพพระภิกษุนั่งพิจารณาปฏิจสมุปบาท ในพระอุโบสถ วัดโพธิ์ปฐมาวาส

รูปแบบศิลปะ จิตรกรรมฝาผนังภาพพระภิกษุนั่งพิจารณาปฏิจสมุปบาทนี้ ประกอบด้วย ภาพของพระสงฆ์นั่งอยู่ด้านบนขวา มองมาที่นกขนาดใหญ่ ซึ่งถือเป็นภาพปริศนาธรรมภาพหนึ่ง เรื่องราวดังกล่าวนี้เพิ่งนิยมเขียนกันในช่วงราวปลายพุทธศตวรรษที่ 24 – 25 นี้ หากพิจารณาคู่กับเทคนิคการเขียนเป็นการเขียนแบบประเพณีที่นิยมในภาคกลาง ภูเขาเขียนแบบเขามอ ต้นไม้ พุ่มไม้เขียนโดยใช้เทคนิคกระทุ่งทำให้มีลักษณะกระจายแทนเทคนิคการตัดเส้นที่ละใบ ภาพดังกล่าวคงมีอายุราวพุทธศตวรรษที่ 25 ประติมานวิทยา / ประวัติ พระภิกษุนั่งพิจารณาปฏิจสมุปบาทเป็นภาพปริศนาธรรมหนึ่ง โดยจากภาพนี้อุปมาดั่งนกกินทุกอย่างแล้วบินไปเกาะต้นอ้อ ที่มีหนูกัดแทะโคนต้น หมายถึง อาตมา (ร่างกาย) เป็นที่ตั้งของจิตอันประกอบด้วยกิเลส ตัณหา อุปทาน ซ้อนกันอยู่ มีความแก่ ความเจ็บ ความตาย เบียดเบียนกัดแทะอยู่เป็นนิจ

ภาพขบวนแห่เจ้าเซ็น วัดโพธิ์ ปฐมาวาส

รูปแบบศิลปะ จากภาพเป็นภาพแสดงวิถีชีวิตของคนในเมืองสงขลาที่นับถือศาสนาอิสลาม นิกายชีอะห์ ใบหน้าบุคคลเขียนแบบประเพณีที่นิยมการเขียนหน้าด้านข้าง การแต่งกายของผู้ชายจะนุ่งกางเกงขายาวสีดำ ส่วนผู้หญิงห่มสไบและนุ่งโจงกระเบน เทคนิคการเขียนบุคคลในภาพมีขนาดใหญ่เป็นการเล่าเรื่องเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ ประวัติภาพขบวนแห่เจ้าเซ็น วัดโพธิ์ปฐมาวาส เป็นภาพเหตุการณ์บันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ของเมืองสงขลาที่หาดูได้ยาก

สะท้อนถึงผู้คนที่เข้ามาอาศัยในเมืองแห่งนี้ว่ามีความหลากหลายทางศาสนาและชาติพันธุ์ ภาพขบวนแห่เจ้าเซ็นนี้ เป็นภาพขบวนแห่ในงานเฉลิมฉลองของชาวมุสลิม นิกายชีอะห์ (คนไทยนิยมเรียกว่า แขกเจ้าเซ็น) พิธีนี้จัดขึ้นเพื่อรำลึกถึงท่านฮุเซนและญาติพี่น้องของท่าน ที่เสียชีวิตจากการต่อสู้เพื่อปกป้องศาสนา ที่กัรบะลาอ์ ประเทศอิรัก ในเดือนมุฮัรรอม ซึ่งเป็นเดือนแรกตามปฏิทินจันทรคติของอิสลาม ในภาพสามารถทราบได้ว่าเป็นพิธีดังกล่าว คือ โลงศพของท่านฮุเซ็นในขบวนมีการตกแต่งอย่างสวยงาม หน้าขบวนมีคนถือมือทองหรือรูปนิ้วมือทั้งห้าติดปลายไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์แทนผู้สะอาดบริสุทธิ์ทั้งห้าที่ชาวชีอะห์เคารพศรัทธา และดาบยาวติดปลายไม้เดินนำขบวน และบุคคลในขบวนมีเลือดไหล ที่เกิดจากการเอามีดกรีดศีรษะหรือทารุณกรรมร่างกายตัวเองด้านล่างของภาพมีรูปกลุ่มสาวกที่ถือคัมภีร์ทางศาสนา และกลุ่มผู้หญิงนั่งร้องไห้ มีถาดใส่อาหารวางอยู่ด้านหน้า

จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมาลัยในอุโบสถ วัดโพธิ์ปฐมาวาส

 รูปแบบศิลปะ จิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระมาลัยในพระอุโบสถ อยู่บริเวณผนังระหว่างช่องหน้าต่าง เป็นภาพในเรื่องพระมาลัย ด้านบนเป็นภาพชายเข็ญใจกำลังเก็บดอกบัวในสระน้ำ ด้านล่างเป็นภาพชายเข็ญใจถวายดอกบัวให้กับพระมาลัยลักษณะการเล่าเรื่องเป็นการเล่าเรื่องแบบต่อเนื่อง โดยนำเหตุการณ์สำคัญมาเขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวสำคัญในอดีตนั่นเอง

ภาพกลุ่มคนหลากหลายเชื้อชาติกำลังต่อสู้กัน พระอุโบสถ วัดโพธิ์ปฐมาวาส

โดยสังเกตได้จากสีผิวและการแต่งกายที่แตกต่างกัน ผมสั้น ผมยาว บางคนมีหนวดมีเครา บางคนนุ่งผ้าลายตาราง ส่วนในประวัติ คุณกณิกนันท์ อำไพ ได้ตีความไว้ 2 การ คือประการแรกอาจจะเป็นการบอกเล่าเรื่องราวของพระมาลัยที่ต่อเนื่องมาจากช่องภาพด้านซ้าย โดยช่องภาพนี้เป้นส่วนที่จะกล่าวถึงการกลียุคอันเป็นบุคคลที่ผู้คนจะไม่ละอายต่อบาป และมีการรบฆ่าฟันกันจนตาย โลกจะเหลือเพียงผู้ในศีลธรรมที่หลบหนีการต่อสู้ไปปฎิบัติธรรมอยู่ในป่าเขาที่จะรอดพ้นจนทันยุคพระศรีอาริย์ ส่วนในประการที่ 2 ภาพนี้เองอาจจะเป็นภาพเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์ช่วงของเมืองสงขลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่สงบจากผู้รายและโจรสลัด 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพ : ฐานข้อมูลศิลปกรรมในภาคใต้ คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร

เรื่องที่เกี่ยวข้อง