หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

เรื่องราวหาดใหญ่

เทคนิค ! การพูดเพื่อเอาชนะใจผู้ฟัง
27 มิถุนายน 2562 | 6,016

การพูดเป็นการสื่อสารที่จะเกิดขึ้นในชีวิตประจำวันของพวกเราทุกคน แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพูดได้อย่างน่าสนใจ จนผู้คนตั้งใจฟังตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งจากการทำงานก็ต้องมีการสื่อสารโดยการพูดในสถานการณ์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นการพรีเซ้นต์งาน การขาย การเจรจา หรือการพูดคุยกับเพื่อนร่วมงาน หัวหน้า หรือลูกน้อง โดยแต่ละคนก็จะมีการพูดที่แตกต่างกันไปตามบุคลิกตามนิสัย แต่ต้องทำยังไงล่ะ การพูดของเราถึงจะดึงดูดและเอาชนะใจคนฟังได้ วันนี้เรามีเคล็ดลับที่จะมาช่วยทำให้การสื่อสารของคุณที่มีประสิทธิภาพและน่าสนใจมากขึ้น

1.อย่าสนใจการพูดจนลืมเรื่องบุคลิก

การจะเป็นผู้พูดที่ดีนอกจากจะต้องมีทักษะการพูดแล้ว บุคลิกระหว่างที่พูดก็สำคัญไม่แพ้กัน เวลาพูด ถ้าต้องยืนก็ให้ยืนหลังตรงแต่ผ่อนคลาย ไม่เกร็งจนเกินไป เพราะจะช่วยส่งเสริมให้มีบุคลิกที่ดีและดูมีความพร้อม พร้อมกับเงยหน้าขึ้นเล็กน้อย เพื่อแสดงออกถึงความมั่นใจและเพิ่มความสง่าเวลาพูด ทั้งหมดนี้นอกจากจะทำให้ภาพรวมเวลาพูดของเราดูดีขึ้นแล้ว การยืนหลังตรงและเงยหน้าขึ้นเล็กน้อยยังช่วยให้เราเปล่งเสียงออกมาได้ง่ายขึ้นอีกด้วย

2. คนฟังคือใคร ศึกษาและทำความเข้าใจให้ดี

การจะพูดให้ชนะใจคนฟังได้ เราก็ต้องทำความรู้จักและทำความเข้าใจคนที่เราจะพูดด้วยก่อน ว่าเราจะพูดให้ใครฟัง เนื้อหาควรเป็นแบบไหน น้ำเสียงและการแสดงออกยังไงที่เหมาะสม รวมไปถึงเรื่องอะไรที่เราต้องระวังหรือหลีกเลี่ยง เช่น ถ้ารู้ว่าลูกค้าที่เราต้องไปพรีเซนต์งานกับเขา เป็นผู้ใหญ่ที่งานรัดตัวตลอดเวลาและเจ้าระเบียบ เราก็ต้องเตรียมเรื่องที่จะพูดแบบกระชับ เข้าใจง่าย ไปให้ตรงตามนัดและใช้เวลาตามที่ขอไปอย่างพอดี พร้อมกับแต่งตัวให้เรียบร้อย

3. ใช้ระดับเสียงสร้างความน่าสนใจ

ระดับของเสียงที่เราพูดออกไป นอกจากจะทำให้เรื่องราวที่เราพูดฟังดูไม่ราบเรียบและน่าฟังมากขึ้นแล้ว ก็ยังสามารถช่วยให้เราสื่อสารออกไปได้ตรงตามความต้องการมากขึ้นด้วย เช่น ขึ้นเสียงสูงเล็กน้อยเวลาที่เราจะพูดเรื่องสำคัญ เพื่อเรียกความสนใจจากผู้ฟัง

4. เว้นจังหวะเวลาจะพูดเรื่องสำคัญ เวลาจะพูดเรื่องอะไรที่สำคัญให้ลองเว้นจังหวะก่อนพูดดู มันจะทำให้เรื่องราวน่าติดตามมากขึ้น และทำให้คนฟังรู้สึกสงสัย อยากรู้จนต้องหันมาสนใจและตั้งใจรอฟังมากขึ้น ซึ่งเทคนิคนี้อาจใช้ในจังหวะหลังจากพูดเรื่องสำคัญด้วยก็ได้ โดยหยุดอีกหนึ่งจังหวะเพื่อให้ผู้ฟังมีเวลาในการคิดตาม และได้ไตร่ตรองถึงความสำคัญของเรื่องที่เราเพิ่งพูดไป

5. ใช้ Body Language ให้ถูกจังหวะและเวลา

นอกจากน้ำเสียงที่ใช้แล้ว ภาษากายที่เราสื่อสารออกไปก็ยังช่วยให้การพูดน่าสนใจมากขึ้นได้ เช่น เดินจากจุดนึงไปอีกจุดนึง เพื่อดึงดูดความสนใจเวลาที่จะนำเสนอสิ่งใหม่ หรือถ้ากำลังนั่งอยู่ ก็อาจจะโน้มตัวมาข้างหน้าเล็กน้อยเวลาที่จะพูดเรื่องที่สำคัญ หรือมองตา เพื่อแสดงออกถึงความจริงใจและช่วยให้ผู้ฟังรู้สึกว่าเราให้ความสนใจพวกเขา ถ้าจำเป็นต้องจดโน้ตอะไรบางอย่าง ก็ให้ใช้แค่สายตามองต่ำลงโดยไม่ต้องก้มหน้าลงไป

6. ภาษาที่ใช้ ต้องเหมาะสมและสร้างสรรค์

เวลาพูดเราต้องรู้จักที่จะเลือกภาษาที่ใช้ให้สร้างสรรค์และเหมาะสมไปพร้อม ๆ กัน การพูดโดยใช้ภาษาทางการมากเกินไปอาจจะทำให้น่าเบื่อ เราอาจจะลองหาคำหรือสำนวนที่คิดว่าน่าจะเพิ่มสีสันหรือเรียกความสนใจได้มาใช้ แต่ก็ต้องเลือกที่เหมาะกับคนฟังจริง ๆ ในขณะเดียวกัน การใช้คำหรือภาษาที่สบายเกินไปในสถานการณ์ที่ยังมีความเป็นทางการอยู่ ก็อาจจะทำให้เรากลายเป็นคนที่ดูไม่มืออาชีพได้เหมือนกัน นอกจากนั้นก็พยายามเลี่ยงที่จะใช้ศัพท์เทคนิค หรือภาษาที่ใช้กันเฉพาะกลุ่ม เพราะมันอาจทำให้คนฟังไม่เข้าใจ จนไม่อยากฟังต่อ

ขอบคุณข้อมูล : Job thai

เรื่องที่เกี่ยวข้อง