หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าวสังคมและการเมือง

เผยผลวิจัย ‘เด็กกำพร้า 9,806 คน’ จากเหตุความรุนแรงชายแดนใต้
11 มกราคม 2562 | 6,722
เผยผลวิจัย ‘เด็กกำพร้า 9,806 คน’ จากเหตุความรุนแรงชายแดนใต้

จากระบบฐานข้อมูลเพื่อการเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนภาคใต้ (DSRD) ของ ศอ.บต. เก็บทั้งรายละเอียดเหตุการณ์ รายละเอียดบุคคลผู้ประสบเหตุ และมีเอกสาร ‘ใบรับรองสามฝ่าย’ การจำแนกข้อมูลตามเอกสารที่ปรากฏ ผลการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า สามารถแยกเหตุการณ์ความรุนแรงได้ออกเป็นสองกลุ่มใหญ่ชัดเจนคือ 1. เหตุการณ์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุความไม่สงบ และ 2. เหตุที่เป็นเรื่องส่วนตัวและอื่นๆ รวมทั้งพบว่าเกิดเหตุความรุนแรงมากที่สุดใน พ.ศ. 2550

จากจำนวนเหตุการณ์ความรุนแรงมากขึ้นสัมพันธ์ตรงกับจำนวนเด็กกำพร้าเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน โดยมีผู้ประสบเหตุจากเหตุความไม่สงบ รวมทั้งสิ้น 20,493 คน บาดเจ็บจำนวน 12,031 คน บาดเจ็บสาหัสจำนวน 1,875 คน ผู้ประสบเหตุจากบาดเจ็บสาหัส กลายเป็นผู้พิการจากเหตุความไม่สงบจำนวน 584 คน ที่สำคัญมีผู้ประสบเหตุเสียชีวิตจำนวน 6,003 คน ทำให้เกิดเด็กกำพร้าในทุกกลุ่มอายุจากพ่อแม่เสียชีวิตในเหตุความไม่สงบเป็นจำนวนทั้งสิ้น 9,806 คน

เมื่อศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อดูภูมิลำเนาเด็กกำพร้าทุกกลุ่มอายุจำนวน 9,806 คน พบว่ากระจายอยู่ทั่วประเทศไทย และหนาแน่นอยู่ที่สามจังหวัดมากที่สุด: ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวมทั้งจังหวัดสงขลา นครศรีธรรมราช เรียงตามจำนวน การพิจาณาในมิตินี้คำนึงถึงเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรง ‘นอกพื้นที่’ ที่เกิดเหตุในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ‘ไม่ควรตกหล่นสิทธิ’ ในการเยียวยาด้านต่าง ๆ ด้วย

เด็กกำพร้าเป็นใครบ้าง อยู่ที่ไหน

คณะศึกษานำฐานข้อมูลของหลายหน่วยงานภาครัฐมาบูรณาการข้อมูลร่วมกัน เพื่อหาคำตอบว่า  “เด็กกำพร้าเป็นใครบ้าง?” จำนวนชายกี่คน หญิงกี่คน อายุเท่าใดบ้าง และเป็นศาสนิกชนใดบ้างในจำนวนสัดส่วนเท่าใด พบว่า เด็กกำพร้าทุกกลุ่มอายุจำนวน 9,806 คน ทั้งนี้ ข้อมูลเด็กกำพร้าของสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 (สสว.12) จากพ่อหรือแม่หรือทั้งพ่อและแม่เสียชีวิตจากเหตุความไม่สงบ อายุ ณ วันที่เกิดเหตุไม่เกิน 25 ปี มีจำนวนทั้งสิ้น 7,297 คน จำแนกตามพื้นที่เกิดเหตุคือ ปัตตานีจำนวน 2,657 คน ยะลาจำนวน 1,914 คน นราธิวาสจำนวน 2,513 คน สงขลาจำนวน 213 คน

เมื่อนำข้อมูลสองหน่วยงานมาเปรียบเทียบระหว่างสำนักการให้ความช่วยเหลือเยียวยา ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสำนักงานส่งเสริมและสนับสนุนวิชาการ 12 (สสว.12)  กระทรวง พม. พบว่าจำนวนเด็กกำพร้าจาก ศอ.บต. จำนวน 9,806 คน และจาก สสว. 12 พม. จำนวน 7,297 คน มีจำนวนและตัวตนเด็กกำพร้าที่สองหน่วยงานนี้ระบุตรงกันจำนวน 8,638 คน

เมื่อพิจารณาภูมิลำเนาและจังหวัดที่เกิดเหตุของเด็กกำพร้าเหล่านั้นพบว่า มีเด็กกำพร้าในภูมิลำเนา ณ ที่เกิดเหตุความรุนแรงมากที่สุดคือ เด็กกำพร้าในจังหวัดปัตตานีและเกิดเหตุที่ปัตตานี จำนวน 2,582 คน รองลงมาเด็กกำพร้าในนราธิวาสเกิดเหตุที่นราธิวาส 2,482 คน และเด็กกำพร้าในจังหวัดยะลาเกิดเหตุที่ยะลา จำนวน 1,941 คน นอกจากนี้ยังมีเด็กกำพร้าภูมิลำเนาอยู่นอกจังหวัดเกิดเหตุ เช่น มีเด็กกำพร้าจากยะลาไปเกิดเหตุที่ปัตตานีมากถึงจำนวน 218 คน

การติดตามและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเด็กกำพร้า

หนึ่งในวิธีการเติมเต็มระบบฐานข้อมูลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้ของหน่วยงานภาครัฐ คือการติดตามและเยี่ยมเยียนให้กำลังใจเด็กกำพร้า โดยผู้ได้รับผลกระทบด้วยกันเอง โดยแกนนำสตรี ‘สตรีจิตอาสา’ แกนนำเยียวยาระดับจังหวัด อำเภอ ตำบลและในชุมชนระดับต่างๆ บัณฑิตอาสา ซึ่งข้อมูลปัจจุบันสามารถ ‘ติดตาม’ เด็กกำพร้าตรงเกณฑ์แต่ยังไม่ได้รับเบี้ยยังชีพรายเดือน 264 คน

ผศ.ดร.เมตตา กูนิง ได้สรุปการนำเสนอผลการดำเนินงาน “คำถามสำคัญคือ เมื่อมี ‘ข้อมูลเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบจากความรุนแรงในจังหวัดชายแดนภาคใต้’ จากภาครัฐเช่นนี้แล้ว หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องจะออกแบบการจัดการการเยียวยาสำหรับเด็กกลุ่มนี้อย่างไรต่อไป การคิดเชิงรุกเพื่อ ‘ป้องกันการตกสิทธิ’ ของเด็กกำพร้าในอนาคตควรทำอย่างไร ‘ร่วมกัน’ รวมทั้งการออกแบบการติดตามข้อมูลควรเป็นอย่างไร ศูนย์ประสานงานวิชาการให้ความช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุความไม่สงบจังหวัดชายแดนใต้ (ศวชต.) มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ยังต้องรักษาและดำเนินการเกี่ยวกับข้อมูลเหล่านี้ต่อไปหรือไม่ อย่างไร”

“งานเยียวยา” การเข้าถึง การใช้ประโยชน์ และผลกระทบ

อาจารย์ฉมาพร หนูเพชร จากคณะพยาบาล มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี เป็นตัวแทนคณะผู้ศึกษาวิจัยนำเสนอข้อมูลเชิงคุณภาพ “การเข้าถึงการเยียวยา การใช้ประโยชน์จากการเยียวยา และผลกระทบของการเยียวยาต่อเด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนใต้” โดย ดร.รอฮานิ เจะอาแซ พบว่า ‘สถานการณ์เด็กกำพร้า’ สัมพันธ์กับสถานการณ์ความรุนแรงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ตลอดระยะเวลา 12 ปีของเหตุการณ์ความรุนแรง ปีใดที่จำนวนเหตุการณ์เพิ่มสูงขึ้นจำนวนเด็กกำพร้าจะเพิ่มสูงตามด้วยเช่นกัน โดยเป็นเด็กกำพร้าพ่อ 95% กำพร้าแม่ 4% และกำพร้าทั้งและแม่ 1%

จากการศึกษาเชิงคุณภาพเด็กกำพร้า 36 คน พบว่าเด็กกำพร้าส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการดูแลโดยพ่อแม่ของตนเอง เด็กอยู่ภายใต้การดูแลของผู้สูงอายุและญาติ ด้วยผู้ปกครองที่เหลืออยู่ต้องออกไปหางาน หารายได้เลี้ยงครอบครัวมากขึ้น ทดแทนกับสมาชิกครอบครัวที่บาดเจ็บและเสียชีวิต กลายเป็นภาระของผู้สูงอายุและญาติที่อยู่ในครอบครัวที่เหลืออยู่ เด็กกำพร้าส่วนใหญ่ต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน เพราะขาดผู้ปกครองในการดูแลเอาใจใส่ มีปัญหาสุขภาพจิต เก็บตัว และมีปัญหาด้านพฤติกรรมต่างๆ

มากกว่านั้น เมื่อลงลึกในการศึกษาเชิงคุณภาพ ‘เด็กกำพร้าจังหวัดชายแดนใต้’ ในจำนวน 36 คน พบว่า การเสียชีวิตของบิดา 1 คน เกิดเด็กกำพร้าเฉลี่ยจำนวน 4.1 คน อายุเฉลี่ย ณ วันเกิดเหตุรุนแรง 5.6 ปี เด็กทุกคนต้องการดูแลด้านจิตใจหลังเกิดเหตุการณ์ เด็กต้องอยู่ในความดูแลของผู้สูงอายุและญาติ เด็กพบกับความสูญเสียรอบสองจากการสมรสใหม่ของบิดามารดา เด็กชายมักพบพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงหลังจากบิดา มารดาแต่งงานใหม่ มากกว่าการได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรง

คำถามที่ชวนขบคิดร่วมกันและท้าทายภาครัฐและเอกชนที่ทำงานด้านเยียวยา ที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2547 - 2558 รัฐเสียงบประมาณด้านการเยียวยาไม่เป็นต่ำกว่าสามพันล้านบาท ทั้งที่เป็นตัวเงินและไม่ใช่ คุณภาพการเยียวยา ‘เด็กกำพร้าจังหวัดชายแดนใต้’ มีนิยามอย่างไร เพราะขณะนี้ ในทางการศึกษา พบเด็กกำพร้าสองกลุ่มใหญ่คือ เด็กกำพร้าที่ได้รับการรับรองสามฝ่าย และไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ ทั้งนี้ คณะผู้ศึกษา พบว่า เด็กกำพร้าจากครอบครัวฝ่ายตรงข้ามรัฐไม่ได้รับการช่วยเหลือใด ๆ และไม่มีข้อมูลในระบบการเยียวยาภาครัฐไปโดยปริยาย

การเยียวยาที่เด็กต้องการ

จากการศึกษาเชิงลึก พบว่า การเยียวยาที่เด็กต้องการ เช่น หลังเกิดเหตุการณ์ใหม่ๆ รู้สึกกลัว ไม่กล้าออกจากบ้าน เพราะกลัวมีคนมาทำร้าย ต้องการคนที่มาดูแลเวลาเดินทาง เช่น เด็กกำพร้าผู้หญิงต้องการให้มี อส. เจ้าหน้าที่คอยคุ้มครองดูแล ต้องการคนปลอบใจ เด็กกำพร้ารู้สึกดีมากที่ครูในโรงเรียนให้กำลังใจ ต้องการคนที่มาช่วยเหลือเรื่องการเรียน เพราะหลังเกิดเหตุการณ์เรียนหนังสือไม่ค่อยรู้เรื่อง ขาดสมาธิ ขาดเรียนบ่อยครั้ง ทุนการศึกษาที่เป็นค่าเทอม รวมทั้งหลักประกันการมีงานทำในอนาคต

เมื่อศึกษาการเข้าไม่ถึงการเยียวยาในกลุ่มเป้าหมายเชิงคุณภาพ 36 ราย พบว่า ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบฯ ที่เข้าไม่ถึงการเยียวยานั้น เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความรุนแรง เช่น เป็นกลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐ และไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ จากภาครัฐ เชิงกระบวนการ: ไม่สามารถเก็บข้อมูลเด็กนอกระบบการศึกษา ขาดข้อมูลเด็กที่อยู่นอกระบบการศึกษา และกรณีไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ มีสองสาเหตุสำคัญ คือ เป็นเหตุส่วนตัว หรือเป็นกลุ่มฝ่ายตรงข้ามรัฐ

เงินเยียวยาใช้ทำอะไรบ้าง ถึงมือเด็กน้อย จ่ายค่านายหน้า

เงินเพื่อการเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2555 จำนวนห้าแสนบาท ครอบครัวเด็กกำพร้าใช้ประโยชน์อย่างไร จากการศึกษา พบว่าเงินจำนวนดังกล่าวถูกนำไปจ่ายหนี้สินเดิม ก่อสร้างบ้านใหม่หรือซ่อมแซมบ้าน (สร้างที่อยู่อาศัย) ซื้อสิ่งฟุ่มเฟือย เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า อาทิ ตู้เย็น โทรทัศน์ เป็นต้น การลงทุนในอาชีพ ที่น่าตกใจในกลุ่มของผู้สูญเสียที่นับถือศาสนาอิสลาม และอ่านเขียนภาษาไทยไม่ได้นั้น มีรายจ่ายเป็นค่านายหน้าเพื่อเข้าถึงสิทธิการเยียวยา ขณะที่ครอบครัวคนพุทธจะมีรายจ่ายในการจัดการพิธีศพสูงมาก และเหลือเป็นเงินเก็บออมเพื่ออนาคตน้อยมากทั้งสองกลุ่ม

คณะผู้ศึกษา ยังพบอีกว่า ทุนการศึกษารายเดือนสำหรับเด็กกำพร้าที่กระทวงศึกษาธิการมอบให้จำนวน 4,500 บาท มีบางส่วนที่ผู้ปกครองนำมาจุนเจือครอบครัว และเด็กกำพร้านำมาใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

กล่าวโดยสรุป เงินเยียวยาตามมติคณะรัฐมนตรี พ.ศ. 2555 นั้น ถึงมือเด็กกำพร้าน้อย มีส่วนแบ่งหลายคน ก่อให้เกิดความขัดแย้งในครอบครัว ถูกนำไปใช้ชำระหนี้สินที่มีอยู่แต่เดิมเป็นส่วนใหญ่ รองลงมานำไปสร้างบ้าน ซื้อของ หรือใช้เพื่อประโยชน์อื่นๆ ของครอบครัว เหลือน้อยสำหรับเป็นเงินออมเพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กในอนาคต และยังพบว่ามีการจ่ายค่านายหน้าเพื่อเข้าถึงสิทธิการเยียวยาประมาณ 10 - 25%

คณะผู้ศึกษายังพบว่า เด็กกำพร้าถึงแม้จะได้รับการเยียวยาแล้ว มีปัญหาที่ปรากฏเด่นชัดสะท้อนปรากฏการณ์ยอดภูเขาน้ำแข็งอย่างน้อย 4 ประเด็นสำคัญ คือ 1. เด็กมีเงินไปโรงเรียนแต่ไม่ได้ทำให้เด็กรู้สึกอยากเรียนรู้ 2. เด็กในกลุ่มตัวอย่าง 13% ต้องออกจากโรงเรียน เนื่องจากเรียนหนังสือไม่ได้ 3. เด็กผู้ชายมีความเสี่ยงสูงในการเข้าสู่วงจรยาเสพติด และ 4. เด็กเข้าตลาดแรงงานก่อนวัยอันสมควร นั่นหมายความว่าภายใต้ปัญหาที่กล่าวมา เด็กกำพร้ายังคงขาดการดูแลเนื่องจากพ่อหรือแม่แต่งงานใหม่ หรือย้ายไปทำงานต่างพื้นที่ฝากให้ญาติดูแลแทน รวมทั้งปัญหาที่มองไม่เห็นอีกจำนวนมาก นักสงคมสงเคราะห์ นักพัฒนาชุมชนทั้งภาครัฐและเอกชนจะช่วยกันพัฒนาระบบและการเยียวยาที่มั่นใจว่าจะช่วยให้เด็กได้รับการดูแลที่ดีได้อย่างไร

ข้อมูลเด็กกำพร้าต้องนำไปขยายผลในทุกมิติ

นายมูฮำมัดอายุป  ปาทาน ประธานสภาสังคมชายแดนใต้ และตัวแทนศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ กล่าวว่าต้องให้ความสำคัญและต้องมีการสื่อสารสาธารณะรายละเอียดของฐานข้อมูลและข้อมูลสถานการณ์เด็กกำพร้าในสถานการณ์ไฟใต้รวมทั้งการนำข้อมูลไปใช้ เพราะหาก ‘ข้อมูลจม’ ก็พลิกสถานการณ์ไม่ได้ คำถามที่ท้าทายคือ ศวชต.จัดทำข้อมูลมาถึงจุดนี้แล้วแล้วจะเดินต่อไปอย่างไร  โดยเฉพาะการนำข้อมูลไปใช้ในการขยายผลทุกมิติ

“เสนอว่าควรเปิดข้อมูลสถานการณ์เด็กกำพร้าชายแดนใต้ในกลุ่มภาคประชาสังคมชายแดนใต้ที่ทำงานด้านเด็กซึ่งมีมากกว่า 40 องค์กร ร่วมกันอีกครั้งในการออกแบบการทำงานในกลุ่มที่ไม่ใช้ภาครัฐ” นายมูฮำมัดอายุป กล่าว

นายมูฮำมัดอายุป ได้มีข้อเสนอต่อที่ประชุมว่าต้องพูดกันให้ชัดว่า เด็กที่ไม่ได้การรับรองสามฝ่ายและ เด็กกำพร้าในครอบครัวของฝ่ายตรงข้ามรัฐจะร่วมกันดูแลอย่างไร และที่สำคัญ ศวชต. และฐานข้อมูลของศวชต. ยุบไม่ได้ เลิกทำไม่ได้ ต้องเป็นพื้นที่กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลสารระหว่างคนในภาครัฐและไม่ใช่รัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ข้อมูลนี้คณะทำงานพูดคุยสันติภาพ/สันติสุขทั้งของรัฐบาลไทยและมาราปาตานีต้องทราบสถานการณ์เด็กกำพร้า เพราะเด็กเหล่านี้คือประชากรในอนาคตของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

สิทธิของเด็กกำพร้าที่ไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’

นางสาวอัญชนา หีมมิหน๊ะ กลุ่มด้วยใจ ระบุมีข้อห่วงกังวลสองประการ คือ จำนวนเด็กกำพร้าจากการไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ น่าจะเป็นจำนวนรวมเท่าใด และทำการเยียวยาเด็กกลุ่มนี้อย่างไร และขณะนี้มีเด็กกำพร้าตรงเกณฑ์ได้รับการเยียวยาแล้ว 7,561 คน ทว่ายังมองไม่เห็นว่าแต่ละองค์กรภาครัฐและเอกชนที่ทำงานเยียวยาจะบูรณาการ ‘ทำงานร่วม’ ต่อไปอย่างไร มีช่องว่างใดที่เอ็นจีโอสามารถเข้าไปให้ช่วยเหลือได้บ้าง

ลดความเหลื่อมล้ำสิทธิเด็กกำพร้าชายแดนใต้

หัวหน้าฝ่ายนโยบายสังคม ยูนิเซฟ ประเทศไทย ให้ข้อเสนอแนะเพิ่มว่าข้อมูลที่ปรับปรุงแล้วน่าจะเป็นประโยชน์ในการติดตามให้ความช่วยเหลือ  และทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมของเด็กกำพร้าเหล่านี้ ทั้งเด็กกำพร้าทั่วไป เด็กกำพร้าจากสถานการณ์ความรุนแรง และเด็กกำพร้าที่ไม่ได้ ‘การรับรองสามฝ่าย’ ไม่ให้กลายเป็นปัญหาสังคมในอนาคต ทุกองค์กรยังใหม่กับข้อมูลและความไม่เท่าเทียม

“โดยส่วนตัวให้ความสนใจเป็นพิเศษในกลุ่มเด็กกำพร้าที่ไม่ได้การรับรองสามฝ่าย ใครเป็นคนติดตาม เด็กเหล่านี้มีจำนวนมากขึ้น น้อยลง และได้รับการช่วยเหลืออย่างไร มองอีกด้านหนึ่ง จึงอยากทำความเข้าใจมากขึ้นว่า เด็กกำพร้าทั่วไปได้รับการช่วยเหลือเช่นนี้ด้วยหรือไม่ หรือเด็กกำพร้าที่ได้รับผลกระทบฯ กลายเป็นเด็กที่ได้รับสิทธิพิเศษในสวัสดิการหรือไม่ การนำผลการศึกษาสถานการณ์เด็กกำพร้าชายแดนใต้เชิงคุณภาพยิ่งสะท้อนความไม่เท่าเทียมเหลื่อมล้ำของเด็กกลุ่มต่างๆ ทั้งนี้คณะผู้ศึกษามีข้อเสนอแนะสู่นโยบายหรือข้อเสนอแนะทิศทางต่อไปควรทำอย่างไรเพื่อจัดการกับปัญหาเหล่านี้

ขอบคุณข้อมูล : ชายแดนใต้ ( ผลวิจัย ศวชต. ดร.เมตตา กูนิง )

 

 

 

 

 

 

 


เรื่องที่เกี่ยวข้อง