หางานหาดใหญ่ หาดใหญ่ ชัดทุกเรื่องเมืองหาดใหญ่ สงขลา อับเดตข่าวหาดใหญ่ Hatyaifocus สาวสวยหาดใหญ่ หนุ่มหล่อหาดใหญ่

ข่าวสังคมและการเมือง

หาดใหญ่ | อนาคตหาดใหญ่ เริ่มก้าวใหม่ ผลักดัน เมืองเดินได้ด้วย " เท้า" ของพลเมือง
13 พฤศจิกายน 2562 | 19,027
หาดใหญ่ |  อนาคตหาดใหญ่ เริ่มก้าวใหม่ ผลักดัน เมืองเดินได้ด้วย " เท้า" ของพลเมือง

วันที่12/11/62หาดใหญ่โฟกัส มีภาพความประทับจากคนกลุ่มหนึ่งในโครงการดี ๆ ที่ร่วมกันทำ ภายใต้ชื่ว่าเมืองเดินได้ด้วย " เท้า" ของพลเมือง โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก Woraphong Rak โพสต์ข้อความที่น่าคดตามไปอย่างยิ่ง ว่า"เมื่อคืนวาน พระจันทร์กลมโตเหลืองอร่าม เพราะเป็นคืนลอยกระทง อากาศดีฝนฟ้าเป็นใจกิจกรรมในแต่ละสถานที่ก็คงลุล่วงไปด้วยความสำเร็จก็หวังว่าวันนี้ภารกิจเก็บกระทงไม่ให้มันหลงทางกลายจาก “เครื่องขมา”เป็น “ขยะแอบตลิ่ง” ก็ต้องฝากไปทางเทศบาลในแต่ละพื้นที่ให้ช่วยๆกันครับ

 

ประเด็นสำคัญ ล่าสุดเมื่อวันที่ 9-10 พ.ย 62 ที่ผ่านมา มีโอกาสได้ไปร่วมกิจกรรมกับทาง เพจ หาดใหญ่เมืองสำหรับทุกคน Hatyai Inclusive City-HIC ที่มีคุณโตมร Tomorn Aphiwanthanakorn ท่านดูแลและได้กรุณาเชิญผมเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในกิจกรรม ทั้งการร่วมพูดคุยแล้วร่วมกัน “เดิน”

 

โดยในกิจกรรมวันแรกภาคเช้าเค้าใช้ชื่อ "หาดใหญ่เมืองสำหรับทุกคน" เป็นการจัด “เสวนาสาธารณะ” จากนั้นภาคบ่ายจะเป็นการชวนดูหนังสารคดีอิตาลีจาก Documentary Club เรื่อง Spettacolo เมืองละคร ส่วนรุ่งขึ้นอีกวันก็เป็นกิจกรรม “เดินเมืองหาดใหญ่” (HATYAI CITY WALK ) โดยมีคุณ บัญชร วิเชียนสรี จากสถานีวิทยุ มอ.88 ทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ดำเนินรายการและร่วมนำเดิน


เสียดายที่ผมติดภารกิจไม่ได้ดูหนังดีๆ ในภาคบ่ายของกิจกรรมวันแรก แต่ช่วงเช้าก็ได้มีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกับวิทยากรอีกสองท่าน และที่สำคัญคือได้รับฟังแนวความคิด,ความรู้สึกของผู้เข้าร่วม ทั้งที่เป็นกลุ่มทำงานด้านสังคมดีๆ อย่าง กลุ่มปันรัก Maaniimaana กลุ่มมานีมานะ ที่เล็งเห็นความสำคัญของการศึกษาที่มีคุณภาพ ถือว่าน่ายินดีว่ามีคนรุ่นหนุ่มๆ เข้าร่วมรับฟังและแสดงความคิดเห็นได้อย่างน่าชื่นชม

หัวข้อพูดคุยที่ว่าด้วยเมืองของทุกคน (Inclusive City) นำมาสู่การตั้งคำถามสำคัญที่จะค้นหาคำตอบให้ทุกคนคิดว่า ตกลงเมืองที่เราอยู่..กิน..หลับนอน และใช้ชีวิตในทุกวันนี้ มันใช่แล้วหรือสำหรับ “ทุกคน”
คำว่า “ทุกคน” นิยามมันครอบคลุมไปถึงทุกคน,ทุกเพศวัย และทุกเพศสภาพ ที่จะสามารถมีสิทธิ..มีเสรีภาพ และความเสมอภาคในการใช้ทรัพยากรที่เมืองจัดสรรให้อย่างเท่าเทียม และอิสระเสรีในทางเลือกที่ถูกออกแบบให้มีความหลากหลาย และเชื่อมโยงกันได้อย่างราบรื่น

ภาพรวมของการเสวนา หลายท่านเห็นตรงกันถึงความพิกลพิการของเมืองที่ถูกออกแบบมาอย่างผิดพลาด และความผิดพลาดเหล่านั้นกำลังจะสร้างปัญหาให้กับเมืองผ่านสภาพที่เห็นในปัจจุบัน นั่นคือความแออัดหนาแน่นด้วยรถยนต์ส่วนบุคคล กับภาพที่ Contrast กับถนนคือความเหงาหงอยเปลี่ยวเปล่าของเมืองที่กำลังถูกทิ้งร้างด้วยสภาพ เซ้ง,ให้เช่า และ “ขาย”

 

ปรากฏการณ์ทีว่า ไม่ใช่เรื่องประหลาด แต่มันเกิดขึ้นแล้วในหลาย ๆ เมืองในหลายประเทศ และสุดท้ายมันไปไกลถึงขนาดที่ว่ากลายเป็น “เมืองร้าง”(Abandoned City) จริง ๆ อย่างที่ดีทรอยต์ อเมริกา และหลายเมืองเคยประสบมาแล้ว หลายคนยังเชื่อว่า เศรษฐกิจที่กำลังมีปัญหาสำหรับย่านดาวน์ทาวน์ของหาดใหญ่ อาจเป็นแค่วงรอบเศรษฐกิจที่ไม่นานมันก็จะวนกลับมาเป็น “ขาขึ้น” นั่นก็มีสิทธิคาดการณ์ได้.... แต่วงรอบขาลงทางเศรษฐกิจที่นานมาก ประกอบกับสภาพของเมืองที่ไม่ได้ถูกออกแบบให้เป็น ย่านที่ส่งเสริมพานิชยกรรมที่ดีมาแต่แรก นั่นจะนำไปสู่การละทิ้งถิ่นฐานขยายตัว(Sprawl) ออกไปเรื่อย ๆ ในที่สุด

ในวงเสวนา มีแง่มุมที่น่าสนใจหลากหลาย และแนวคิดใหม่ ๆ เชิงสร้างสรรค์ที่จะเป็นสิ่งที่จะทำให้คนหาดใหญ่ทั้งเด็ก,เยาวชนคนหนุ่มสาว รวมทั้งผู้เฒ่าชะแลแก่ไปไหนไม่ได้ ซึ่งกำลังเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืมในห้วงสังคมสูงอายุ ถูกนำเสนอผุดขึ้นมามากมาย คุณดาว ซึ่งเป็นอาจารย์โรงเรียนเอกชน พูดถึงกิจกรรมที่อยากนำเด็ก ๆ “เดินเมือง” เพื่อสร้างเสริมประสบการณ์และเรียนรู้ความหลากหลายทั้งในแง่ของวัฒนธรรม,ชาติพันธ์,พัฒนาการของเมือง ในแบบเรียนรู้จากประสบการณ์จริง เดินจริง..เหงื่อออกจริง และซึมซับความเป็น “เมือง”ได้อย่างลึกซึ้ง

แต่เรื่องดี ๆ ในความตั้งใจทั้งหมดถูกหยุดลง เพราะปัญหาความกังวลและห่วงใยในความไม่ปลอดภัยของเด็ก ๆ กับปัญหา “ทางเท้า” และสภาพการจราจรภายในเมืองที่ไม่เอื้อต่อ “กิจกรรม” ปัญหาการลดความแออัดทางจราจร อย่างเรื่อง การเปิดให้เด็ก ๆ สามารถเดินไปโรงเรียนเองได้อย่างปลอดภัย (Safe Route to School) ซึ่งถ้าระบบการออกแบบทางเท้าทำได้ดี จะช่วยลดปริมาณรถยนต์,รถจักรยานยนต์ที่ผู้ปกครองต้องออกมาส่งลูกหลานในยามเช้าและเย็น ได้มากถึง 30-40 เปอร์เซนต์

ในงานเสวนาวันแรก และกิจกรรมเดินในวันที่สอง ผมโชคดีได้ฟังเรื่องราวดี ๆ จากหลายท่าน อย่าง คุณพี่ ชัยวุฒิ บุญวิวัฒนาการ (Chaiwud Boonwiwattanakarn)ที่ถือเป็นผู้อาวุโสที่มีประสบการณ์และเก็บเกี่ยวเรื่องราวของหาดใหญ่ในอดีต นำเรื่องราวของเมืองมาเรียบเรียงให้เห็นถึงพัฒนาการของเมืองที่เริ่มแต่ก่อร่างสร้างเมืองมาจนยุครุ่งโรจน์มาจนยุคเหงาหงอย ได้ฟังแนวคิดจาก คุณอาคเนย์ Arkanay Panjatape ผู้ดำเนินรายการ “ปั่นกลางอากาศ” กับความหวังที่จะเห็น “การเดิน” กลายมาเป็นปกตินิยมกันอีกครั้ง

ซึ่งได้มีโอกาสพบกับ อาจารย์มงคล ชนินธร มงคล ชนินทรสงขลา ที่เป็นอาจารย์ด้านผังเมือง และอาจารย์สิทธิศักดิ์ ตันมงคล ที่ได้นั่งแลกเปลี่ยนและเรียนรู้ความคิดดีๆ จากทั้งสองท่าน
 อาจารย์มงคล ท่านพูดถึงเมืองหาดใหญ่กับปัญหาที่ผิดพลาด คือมันกระจายตัว(Sprawl) ออกแบบไร้การควบคุม นั่นทำให้เมืองสูญเสียความเป็นศูนย์กลางที่ควรจะเป็นเมืองที่กระชับและหนาแน่น(Compact/Density)แต่เรากลับปล่อยปละละเลย ขาดการวางแผนในอนาคตอย่างต่อเนื่องซึ่งก็มีคำถามต่อมาว่าแล้วเรื่องเหล่านี้ใครควรจะเป็นผู้ดูแล

อาจารย์สิทธิศักดิ์ นอกจากงานในส่วนของสถาบันทักษิณคดีศึกษา แล้วท่านยังมีโครงการที่จะทำให้คลองเตยหาดใหญ่มีสภาพที่จะเอื้อต่อการเป็นพื้นที่สำคัญของหาดใหญ่ ทั้งในแง่ของการเป็นพื้นที่ ๆจะช่วยเป็นปอดของเมือง ส่งเสริมการเดินหรือปั่น มากกว่าที่เป็นอยู่ และนี่อาจเป็นการ kickoff เรื่องภารกิจปรับปรุงเมืองที่น่าสนใจ ภาพรวมของการเสวนา เพื่อจะนำไปสู่กิจกรรม “เดินเมือง” ในวันรุ่ง จึงลงตัวที่ความเห็นทุกคนมองว่า “ทางเท้า” ควรจะถูกนำมาพิจารณาสร้าง,ปรับปรุงและแก้ไข เพื่อจะนำไปสูการสร้างกิจกรรมดีๆ หรือเรื่องราวดีๆ ของเมืองในอนาคตได้



อาจารย์มงคล ท่านให้ความเห็นแบบตรง แต่ผมเห็นว่าเฮ้ยมัน “ได้!” ด้วยการยืนยันว่า เมืองต้องเลิกสนใจ "ล้อ" แต่หันมาให้ความสำคัญกับ “ตีน” ผมอมยิ้มกลับบ้านอย่างมีความสุข เพราะเริ่มมองเห็นทางแสงสว่างปลายอุโมงค์ของหาดใหญ่น่าจะใช่อย่างที่อาจารย์ว่าละครับ เพราะอนาคตของเมืองหาดใหญ่มันได้อยู่ที่ไหนเลย “อยู่ที่ตีนของเราที่แหละ”

ขอบคุณภาพข่าว : Woraphong Rak Arkanay Panjatape


เรื่องที่เกี่ยวข้อง